"ประสบการณ์เป็นครูที่ดีที่สุด"
Just F*cking Do It (#ก็แค่เริ่มทำแม่ม) ภาค The Cheese Factory และ Mobile Dev Talk
15 Feb 2015 14:53   [7661 views]

เผลอแป๊บๆก็ผ่านไปเรียบร้อยแล้ว 8 รุ่น 80 คน สำหรับคลาสแอนดรอยด์ในรั้วโรงงานเนยแข็ง The Cheese Factory ที่รักของเรา

และเนื่องในโอกาสของ Blog ที่ 800 เลยขอหยิบเรื่องนี้เอามาเล่าให้ฟังครับกับประสบการณ์ 2 เดือนนิดๆที่ผ่านมาว่าชีวิตทำอะไรมาบ้างเพื่อปั้นคอร์สตามที่ตั้งใจไว้ขึ้นมาด้วยมือตัวเอง

โดยคอร์สนี้ถึงจะเริ่มสอนได้แค่สองเดือนนิดๆ แต่พูดถึงการเตรียมสอนก็ใช้เวลาไปราวๆ 6 เดือน (ไม่รวมชีวิตตลอด 5 ปีที่ Dev แอพฯแอนดรอยด์มา เพราะศาสตร์แอนดรอยด์การเขียนแอพฯแอนดรอยด์มันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ต้องคอยอัพเดตชีวิต)

6 เดือนนี้เราวิ่งเข้าตามบริษัทต่างๆ หาปัญหาที่คนทั่วไปเจอ อะไรที่ Developer ส่วนใหญ่มักไม่รู้ทั้งๆที่ควรรู้ พื้นฐานนักพัฒนาไทยเป็นยังไง ฯลฯ รวมถึงไปหาวิธีที่่เป็น Best Practices พร้อมกับหาแนวทางการสอนของตัวเอง จนถึงนั่งคิดวิธีสอนยังไงให้คนเรียนเข้าใจมันอย่างถ่องแท้และสามารถเดินไปต่อได้ด้วยตัวเอง

และไปๆมาๆ สงสัยเราจะมาสาย Startup นานจัด การทำ The Cheese Factory นี้ก็เลยมาในแนวทางของ Lean Startup ไปซะอย่างนั้น คือตั้งสมมติฐาน ทดสอบและ Validate ในทุกขั้นตอนที่คิดขึ้นมา

จนสุดท้ายจึงได้คำตอบว่า Android Developer ไม่ค่อยแม่นพื้นฐาน เหมือน Dev ไปเรื่อยๆโดยไม่เข้าใจสิ่งที่กำลังจะเจอ คอร์สแอนดรอยด์ที่เปิดมาในช่วงแรกจึงเป็นการปรับพื้นฐานใหม่หมด โดยเอาข้อมูลที่ได้มาจากการพูดคุยกับ Developer จริงๆจำนวนมาก

6 เดือนดูเหมือนจะยาวนาน แต่พูดเลยว่าถ้าไม่ได้ทำแบบ Lean อาจจะสั้นกว่านี้ แค่ 1-2 เดือน แต่คงใช้เวลาหาแนวทางและปรับการสอนอีกสัก 1 ปีเห็นจะได้ ผลคือถึงจะใช้เวลามากกว่านิดหน่อยในช่วงเริ่มต้น แต่ไม่มีการหลงทางเกิดขึ้นและการสอนที่ออกมาก็เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุด เกาถูกที่คัน ได้ผลออกมาน่าพอใจในทุกๆคลาส

และทั้งหมดทั้งมวลต้องขอบคุณแนวทางหนึ่งที่ได้รับการสั่งสอนมาจากค่าย JFDI ที่สิงคโปร์

Just F*cking Do It

ในชีวิตคนเรามักจะมีความคิดว่า "อยากทำโน่น" "อยากทำนี่" แต่ "แม่มไม่ทำสักที"

Idea is Cheap ครับ คนที่คิดได้เนี่ยไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อชีวิตเลย หากคนอื่นทำตัดหน้าก็อย่างอแงว่าโดนลอกไอเดีย เพราะคนที่ทำได้ต่างหากที่ทำให้มันเกิดขึ้นจริง ดังนั้นอย่าเอาแต่คิดครับ ลงมือทำเลย! ไม่ต้องเดี๋ยวก่อน ขอเดี๋ยวนี้!

และด้วยแนวทางนี้ The Cheese Factory จึงเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจและใส่ใจทุกรายละเอียด หวังจะพัฒนา Developer ในไทยให้สร้างผลงานระดับโลกออกมาให้ได้ โดยเริ่มต้นจากคอร์สแอนดรอยด์ที่สอนอยู่ในขณะนี้ และกำลังจะตามมาด้วยคอร์สอื่นๆอีกหลายตัว

เอามาเล่าประสบการณ์ Just F*cking Do It ตามแบบของ Lean ที่ผ่านมาให้ฟังนิดนึง เพราะถือเป็นประสบการณ์ที่ตัวเองทำหมดทุกอย่างใน Landscape เลยเจอมาหมดทุกอย่าง สนุกๆ

MVP

MVP ย่อมาจาก Minimum Viable Product มีอยู่หลายสเกลด้วยกัน ตั้งแต่แค่ Video Presentation (ซึ่งจริงๆเราเรียกมันว่า MVE, Minimal Viable Experiment) ยันโปรดักส์ที่ใช้งานได้จริงๆแล้ว แต่ยังไม่สมบูรณ์ แต่ User พร้อมจะจ่ายตังค์และให้ Feedback แล้ว

ซึ่งถ้าอยู่ในขั้นที่จะ Launch Product เพื่อทดสอบแล้วต้อง Keep in mind ไว้ว่า

การ Launch MVP ไม่ได้แปลว่าจะ Launch ของห่วยๆกากๆที่ไม่มีใครอยากได้

สำหรับคอร์ส Android ก็มี MVP เหมือนกัน คือคลาสแรกๆที่เปิด Pilot นั่นเอง ตอนนั้นคอร์สพร้อมจะสอนแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่เราต้องการหาคำตอบเช่นระยะเวลาที่สอนมากหรือน้อยไป เนื้อหาเบาหรือหนักไป สถานที่เป็นยังไง แนวทางการสอนช่วยชีวิตคุณได้หรือไม่ ฯลฯ ซึ่งวิธีเดียวที่จะ Validate ได้คือเริ่มสอนจริง

แต่เนื่องจากในช่วงนั้น โปรดักส์ถือว่าอยู่ในช่วงทดลอง เราก็เลยลดราคาไป 50% เหลือ 6000 บาท (จาก 12,000 บาท) พร้อมเขียนไว้ว่าเป็นคลาสทดสอบ ถ้าเป็นแต่ก่อนคงยังไม่กล้าเก็บเงิน อาจจะสอนฟรีสัก 2 คอร์สก่อน แต่พอเริ่มทำธุรกิจจริงจังก็รู้แล้วว่าการเก็บเงินเป็นสิ่งที่จะบอก Demand ที่แท้จริงให้เราได้ ก็เลยตัดสินใจเก็บเงินเลยตั้งแต่คอร์สแรก ซึ่งผลก็ได้ออกมาดีเพราะคนเรียนสามารถให้ Feedback ได้ว่าถูกหรือแพงไปยังไง ผลคือเอามาปรับใช้ได้กับคลาสถัดๆไปได้ทันที ไม่ต้องรออีก 2 คลาสถึงจะ Validate ได้

ถึงจะเป็นแค่ MVP แต่หากเก็บเงินได้ก็ควรเก็บเลย เพราะมันจะให้คำตอบดีๆกับคุณได้

แต่อย่างที่บอก MVP ไม่ใช่ของห่วยๆกากๆแต่เป็นโปรดักส์ที่พร้อมจะเก็บเงินแล้ว ดังนั้นการเก็บเงินไม่ใช่เรื่องผิดครับ แต่ถ้าเป็นแค่การทดลอง ใช้จริงไม่ได้ เก็บเงินนี่อาจจะบาปอยู่

อย่างไรก็ตาม คนในกลุ่ม MVP ก็เป็นลูกค้าเหมือนกัน แต่อยู่ในช่วงที่โปรดักส์ยังไม่สมบูรณ์แบบ การเก็บเงินน้อยกว่าแล้วคิดว่าพอแล้ว จากนั้นก็ทิ้งไปมันก็บาปเช่นกัน ดังนั้นของเรา คนที่เรียนคลาส Pilot เราเลย Offer ว่าสามารถกลับมาเรียนอีกทีเมื่อไหร่ก็ได้ ให้เรียนฟรีเลยอีก 1 ครั้ง

Product Fit

สำหรับเรากว่าจะ Product Fit ก็ปาไป 5 รุ่น ก่อนเนื้อหาต่างๆจะลงตัว ตลอดเวลาที่เปิดคลาสใหม่ก็มีการปรับราคาและรูปแบบโปรโมชั่นเพื่อทดสอบตลาด ทำให้ได้คำตอบที่อยากทดสอบมาครบถ้วน

และหลังจากสอนไปได้เดือนสองเดือน ก็เริ่ม Follow Up วิ่งหาว่าใครมีผลงานเป็นยังไงบ้าง พัฒนาจากเดิมแค่ไหน และตรงนี้ก็ได้คำตอบอีกว่าคนที่มาเรียนสามารถเอาเนื้อหาที่เราสอนไปใช้จริงได้หรือไม่

และสัปดาห์ที่แล้วก็ได้คำตอบมาแล้วว่า "ได้จริงๆ" เป็นอันจบขั้นตอน Product Fit เป็นที่เรียบร้อย ตอนนี้ก็เลยถึงขั้นตอนต่อไปแล้ว "Scale"

Scale

เมื่อ Product Fit แล้ว ความมั่นใจในตัวโปรดักส์ก็ชนเพดาน เพราะพิสูจน์กับกลุ่มคนที่เป็นลูกค้าจริงๆแล้วเกือบ 100 คน ตอนนี้เลยอยู่ในขั้นตอนการซุ่มทำอะไรบางอย่างเพื่อ Scale ตัวคลาสนี้ออกไปทั้งไทยและเทศ โปรดรอติดตามครับ อีกไม่เกิน 1 เดือนจากนี้เจอกัน =)

ใส่ใจทุกรายละเอียด

สิ่งหนึ่งที่เนยรู้สึกว่ามันสำคัญมากๆคือ "การเรียนต้องมีความสุข"

คลาสนี้เลยใส่ใจเรื่องอาหารมาก ไม่ได้สั่งแบบมาตรฐาน แต่วิ่งไปหาร้านที่อร่อยจริงๆ

และทุกคลาสที่เรียน เนยจะมานั่งพิมพ์+ตัดหนังสือพร้อมเข้าเล่มด้วยตัวเองทีละเล่มๆ

ออกมาหน้าตาเป็นแบบนี้

สิ่งที่ได้กลับมาคือความสุขทั้งของคนเรียนและคนสอน แฮปปี้ทุกครั้งที่ได้สอนฮับ =)

Mobile Dev Talk

หลังจาก Breakthrough ชีวิตจากคำว่า Just F*cking Do It แล้ว ชีวิตเลยรู้สึกว่าจะทำอะไรก็ทำได้แล้ว ขอแค่ทำมัน(หรือจะบอกว่าทำแม่งเลยก็ได้)

เลยก้าวมาทำเพิ่มอีกอย่างโดยมีจุดประสงค์เดียวกัน "ผลักดันนักพัฒนาและเพิ่มคุณภาพของ Mobile Developer ในไทย" ด้วยการรวมตัวผู้นำ Developer Community หลายรายมาจัดงาน Mobile Dev Talk ด้วยกัน

โดยงานนี้ตั้งใจจะจัดมาสองปีละ แต่ไม่ได้จัดสักที ตอนนี้น่าจะได้เวลาที่เหมาะเจาะแล้ว เลยจัดไปงาน Mobile Dev Talk ครั้งที่ 0 งาน Tech Networking ที่จัดขึ้นด้วยความคิดที่ว่า "พวกเราควรจะมาเจอกันได้แล้วนะ" คือคนเก่งเยอะนะวงการนี้ แต่กระจัดกระจายมากจนไม่เกิด Knowledge Transfer วงการเลยไม่ไปไหนสักที

ถึงจะยังเป็น Experiment อยู่ (ก็ครั้งแรกนี่เนอะ) งานแรกยังไม่ลง Technical มากเพื่อดูเชิงคนมางาน แต่งานนี้ก็เรียกได้ว่าตั้งใจมาก โดยมีจุดประสงค์หลักที่เรียกว่าน่าท้าทายมากเพราะตั้งใจจะเปลี่ยน Culture ของนักพัฒนาที่ส่วนใหญ่เป็น Introverted (เก็บตัว) ให้มาเจอกันสักทีและงานที่มาเจอกันไม่ควรจะมีคนขายของ แต่ต้องทำเพื่อ Developer จริงๆ ก็เลยไม่เน้นขอสปอนเซอร์แต่ให้ทุกคนที่ร่วมงานหิ้วอาหารมาคนละ 1-2 อย่างแทน แล้วมารับประทานร่วมกันพร้อมเบียร์ไม่อั้น ปาร์ตี้ยยยยยยยยยย~~~~~~

ไอเดียเรื่องหิ้วอาหารมานี่คิดไว้นานแล้ว พยายามขายไอเดียให้คนโน้นคนนี้แต่สุดท้ายก็ไม่มีใครทำ งานนี้เลยน่าจะเป็นงานแรกๆที่ทำแบบนี้ (ไม่นับรวมวงเหล้านะ) และหวังว่าจะเกิดวัฒนธรรม Food as Ticket Fee นี้ต่อๆไปด้วยครับ ไม่อยากให้จำกัดแค่งานนี้

ถือเป็นงาน Tech Networking ที่ขาดแคลนในไทยเป็นอย่างมากและหวังเป็นอย่างยิ่งว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรแบบนี้เยอะๆในทุกวงการไม่เฉพาะแต่ Mobile ครับ

สำหรับงานนี้จะเป็นยังไงบ้างเดี๋ยวเอามาเล่าให้ฟังเพราะงานมีพรุ่งนี้แล้ว เย้ เย =)


จำไว้ครับ

Just F*cking Do It

คนที่ทำเท่านั้นที่เปลี่ยนโลกได้

หากคุณยึดถือสิ่งนี้และทำตามได้ ชีวิตคุณเปลี่ยนไปแน่นอนครับ

สวัสดีครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Jul 29, 2014, 17:33
296480 views
ความแตกต่างระหว่าง "ความเครียด" (Stress) และ "ซึมเศร้า" (Depression)
Feb 20, 2015, 00:27
6888 views
ทดลองตั้งระบบ Crash Tracking สำหรับ Android เองด้วย ACRA
0 Comment(s)
Loading