""โอกาส" ก็สำคัญพอกับ "อากาศ" นั่นแหละ"
คำตอบที่ใช่เกิดจากคำถามที่ถูกต้อง "ศาสตร์ของการถาม" ถามอย่างไรให้ได้คำตอบ?
17 Mar 2015 21:16   [88773 views]

คติประจำใจอย่างหนึ่งในชีวิตคือ

คำถามนั้นสำคัญกว่าคำตอบ

อาจจะฟังดูน่าขัดใจ แต่ส่วนตัวแล้วสุดท้ายสิ่งที่เราต้องการจริงๆยังไงก็ไม่พ้น "คำตอบ" อยู่ดีแหละ แต่ถ้าตั้งคำถามไม่ถูกแล้วมันจะมีโอกาสได้คำตอบที่ถูกต้องมั้ย? ไม่ว่าจะเป็นการถามคนอื่นหรือแม้แต่ตั้งคำถามเองในใจเพื่อไป Search หาด้วยตัวเอง ก็ล้วนสำคัญต่อการหาคำตอบทั้งสิ้น

ดังนั้นการตั้งคำถามจึงสำคัญเอามากๆ หากตั้งคำถามถูกและดี มีแนวทางการถามอย่างถูกต้อง ก็จะได้คำตอบที่ถูกต้องเช่นกัน ตรงกันข้าม หากตั้งคำถามผิดหรือใช้วิธีการถามแบบไม่มีชั้นเชิง ก็อาจจะไม่ได้คำตอบเลย หรือถ้าได้คำตอบ คำตอบนั้นก็อาจจะไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย

การตั้งคำถามที่ดีไม่ได้ช่วยแค่หาคำตอบ แต่มันเป็นพื้นฐานของการไขว่คว้าหาความรู้อันไม่มีที่สิ้นสุดของชีวิต มันช่วยในการปรับความคิดและเพิ่มพลังในการก้าวไปข้างหน้าได้เลยทีเดียว สำหรับผมแล้วคนที่ตอบเก่งยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าอนาคตเค้าจะเป็นอย่างไร แต่คนที่ตั้งคำถามเก่งและถูกต้อง เราเห็นละว่าเค้าไปได้อีกไกลแน่ๆ (ย้ำนะว่าต้องตั้งอย่างถูกต้องด้วย ไม่ใช่เจ้าหนูจำไม ถามทุกอย่างแต่ไม่มีค่าอะไรเลย) ตรงกันข้าม คนที่ตั้งคำถามไม่เป็น คือคนที่ย่ำอยู่กับที่ ไม่อาจจะหลุดจากตัวเอง(Breakthrough)ไปได้เลย

meeting

สักพักแล้วที่ในห้องประชุมอันเงียบเหงา เราจะมีหน้าที่ตั้งคำถามต่างๆนานาให้คนในห้องได้คิดคำตอบ จุดประสงค์หลักๆคือกระตุ้นให้คนได้คิดทุกประเด็นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลับมาประชุมซ้ำซาก พอทำงานถึงจุดหนึ่งแล้วเกิดคำถามขึ้นมา ก็จะนึกออกว่าอ้อ! เราเคยคุยเรื่องนี้กันแล้ว แล้วงานก็จะเดินไปได้ด้วยดี เพราะคำถามได้สร้างความคิดและแนวทางของทุกคนไว้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่ตอนประชุมนั่นเอง

และในสถานการณ์ที่เราอยู่ในตำแหน่ง Team Lead เราจะทำกลับกันคือกระตุ้นให้ทุกคน "ตั้งคำถาม" ซึ่งความสำคัญของตรงนี้ไม่ได้อยู่ที่การให้คำตอบกับเค้า แต่เป็นการทำให้เค้าคิดเองเป็น ตั้งคำถามเป็น อีกทั้งยังรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของทีมไม่ใช่แค่ทำตามคำสั่งไปวันๆ และที่เหลือจะเป็นหน้าที่ของเค้าที่ต้องไปหาคำตอบเองและตั้งคำถามใหม่ให้ตัวเอง หาคำตอบ ทำอย่างนี้เรื่อยไปจนกระทั่งงานออกมาเสร็จสมบูรณ์แถมยังได้คนที่มีคุณภาพเพิ่มมาอีกหนึ่งคนทันที

ทั้งนี้ทั้งนั้น "การตั้งคำถาม" และ "วิธีการถาม" ไม่ใช่เรื่องง่าย นี่พูดเลย และนับเป็น "Soft Skill" อย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่างอะไรกับสกิลการพูด สกิลการเขียนและสกิลการสื่อสารเลย

และสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมที่ตัวเองอยู่ในขณะนี้อย่างสังคมนักพัฒนา ก็พบเห็น "การตั้งคำถามไม่เป็น" อยู่เป็นจำนวนมาก เอาแค่ที่เห็นในกรุ๊ปที่ส่องๆอยู่และที่มาคุยกับเราก็เรียกว่าเจอแทบจะตลอดเวลา

ซึ่งก็ไม่ได้เกิดแค่ในไทยนะ เดี๋ยวจะหาว่าดูถูกชาติเดียวกันรึเปล่า นี่มีโอกาสได้ไปตอบใน stackoverflow มาแป๊บนึง ผลคือพบว่าคำถามเกินครึ่งที่เป็น "คำถามที่ไม่ดี" หรือ "ถามไม่เป็น" สุดท้ายก็โดนโหวตออกไปในที่สุด

ดูแล้วหากแก้ไขตรงนี้ได้ น่าจะได้เห็นนักพัฒนาตัวเทพโผล่ขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก ก็เลยถือโอกาสนี้เขียนแนวทางการตั้งคำถามและวิธีการถามโดยสังเขปมาให้อ่านกันครับ เผื่อเป็น Guideline ช่วยตอนจะถามอะไรใคร

He who asks is a fool for five minutes, but he who does not ask remains a fool forever
- Mark Twain

เริ่มต้นจากสิ่งพื้นฐานที่ต้อง Keep in mind ไว้เสมอ

จงให้เกียรติทุกวินาทีของคนตอบ

เป็นสิ่งที่ต้องตระหนักไว้เสมอว่าเรากำลังไปรบกวนเวลาคนที่เรากำลังจะถามอยู่นะ เป็นเรื่องพื้นฐานมากๆ หากขาดตรงนี้ไป คุณก็จะทำสิ่งผิดพลาดตามมาอีกมากมาย และเกือบทุกข้อที่เราเขียนในบทความนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากพื้นฐานข้อนี้ทั้งสิ้น

ทุกวินาทีของมนุษย์ทุกคนล้วนมีค่า มันคือการนับถอยหลังสู่วันที่สิ้นชีวี โจทย์คือคุณจะทำยังไงให้สามารถแทรกแซงขอเวลาชีวิตจากคนคนหนึ่งได้เพื่อตอบคำถามที่คุณสงสัยได้อย่างเต็มใจ?

อย่าถามคำถามที่หาคำตอบได้ด้วยตัวเอง

google

ก่อนจะไปถึงเรื่องการตั้งคำถาม บางทีอาจจะต้องเริ่มตั้งแต่ถามตัวเองก่อนว่า "เราจำเป็นต้องถามรึเปล่า"

เกือบทุกอย่างล้วนมีข้อมูลให้ศึกษาอยู่ในโลกออนไลน์ บางทีคุณไม่จำเป็นต้องไปถามใครเลยด้วยซ้ำเพราะมีคนเคยสงสัยและถามแบบเดียวกันในโลกอินเทอร์เนตอยู่แล้ว ก็แค่คลิกเม้าส์พิมพ์คีย์บอร์ดเพื่อค้นหาสิ่งที่คุณต้องการดูสิ

หากพบคำตอบแล้วก็เป็นอันจบ

ตรงกันข้าม หากคุณยังอุตริลุยถามคำถามที่คุณเองก็หาคำตอบได้ คนจำนวนหนึ่ง(อย่างน้อยก็เนย)จะไม่ตอบกลับเลย เพราะถือว่าไม่ให้เกียรติเวลาของเรา หรือถ้ามีคนตอบ คุณก็จะไม่มีความสามารถอะไรเพิ่มขึ้นเลย เพราะต้องอาศัยคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ดีต่อชีวิตคุณทั้งตอนนี้และภายภาคหน้าแน่นอนครับ

ดังนั้นอย่างแรกที่อยากให้ทำเมื่อเริ่มมีคำถามขึ้นมาในหัวคือ ไปหาคำตอบด้วยตัวเองก่อนใน Google หรือแหล่งข้อมูลออนไลน์ที่มีอยู่มากมาย จนกระทั่งเจอจุดที่ไม่สามารถหาคำตอบได้จริงๆ หรือในออนไลน์มีคำตอบให้เยอะเกินไปจนไม่รู้จะเลือกอันไหน ต้องการ Opinion จากผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ถึงไปขอคำปรึกษาประเด็นนั้นๆอีกที

รู้หรือไม่ว่าหลายๆบริษัทใช้การ "หาคำตอบด้วยตัวเองเป็น" เป็นเกณฑ์การรับคนเข้าทำงานด้วย เพราะนั่นมันเป็นความสามารถพื้นฐานเลยหละ ถ้าองค์มีคนที่คอยแต่ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นโดยไม่คิดหาอะไรด้วยตัวเองก่อนเต็มบริษัท ก็เห็นอนาคตแล้วหละว่า ... วอดวายแน่นอน

อย่าตั้งคำถามที่กว้างเกินไป

เป็นข้อผิดพลาดข้อหนึ่งที่เจอบ่อยที่สุด เกิดจากคนที่ไม่ทำการบ้านอะไรมาก่อนเลย อยู่ดีๆอยากถามก็ถาม

"ผมจะลอก Facebook มาทั้งระบบ ผมต้องทำอะไรบ้างครับ" (Bad)

"อยากทำขนมเป็นค่ะ ทำยังไงดีคะ" (Bad)

ทั้งนี้คำถามที่กว้างเกินไปต้องใช้พลังในการตอบสูง จนคนตอบรู้สึกว่ามันเป็นเวลาที่เสียไปอย่างไร้ค่ามาก คนที่ตั้งคำถามกว้างขนาดนี้สามารถบอกได้ว่าเป็นคนที่ไม่มีความขวนขวายไขว่คว้าที่จะรู้อะไรเลย แต่ต้องการคำตอบเพื่อไปทำอะไรสักอย่างเท่านั้น เช่น เอาไปส่งเจ้านาย หรือเอาไปส่งครู (เจอบ่อยกับพวกทำรายงานส่งอาจารย์ ด่ากลับไปหลายรายละ)

หรือถ้ามองเฉพาะเนื้อหาของคำถามก็จะพบว่ามันมีคำตอบต้องตอบเป็นสิบ แทบจะต้องเขียนเรียงความเพื่อตอบกลับ ซึ่งสุดท้ายเวลาทุกคนล้วนมีค่า จะไม่มีใครตอบให้คุณหรอกกับคำถามที่ดูไม่มีหลักยึดแบบนี้ หนำซ้ำอาจจะโดนด่ากลับเป็นชุดด้วยซ้ำเพราะดูไม่ให้เกียรติเวลาของผู้ถูกถามเลย

คำถามที่ดีควรจะเป็นคำถามที่แคบและเฉพาะเจาะจงเป็นจุดๆ โดยคุณมีหน้าที่ศึกษาสิ่งที่คุณอยากรู้มาแล้วระดับนึงแล้วย่อยสิ่งที่คุณสงสัยออกเป็นข้อๆที่สะดวกต่อการตอบ

"หนูกำลังทำ Honey Toast อยู่ เห็นว่าพี่เคยทำแล้ว พี่มีวิธีทำยังไงให้เนยซึมเข้าเนื้อคะ" (Better)

เพียงเท่านี้คำตอบก็จะแคบลงไปมาก ทำให้ตอบง่ายขึ้นเอามากๆ แถมคำถามยังเต็มไปด้วยความให้เกียรติกับผู้ถูกถามว่ามีคนอยากฟัง Opinion จากเรา แต่ถามว่ามันเป็นคำถามที่ดีล้ำหรือยัง? ตอบได้ว่ายัง มันแค่ดีขึ้นเท่านั้น

แสดงสิ่งที่ไปศึกษาและพยายามทำมาก่อนหน้านี้ก่อนเริ่มถาม

research

ข้อผิดพลาดอย่างหนึ่งของการถามคำถามโดยเฉพาะอย่างยิ่งการถามแบบออนไลน์คือ การไม่ยอมแม้แต่จะพยายามทำอะไรก่อน อยากจะถามก็ถามเลย ซึ่งมันนับเป็นการไม่ให้เกียรติเวลาของผู้ถูกถามอย่างให้อภัยไม่ได้ ราวกับเป็นผู้บริหารระดับสูงที่ชี้หน้ามายังลูกน้องแล้วบอกว่า "ไปหาคำตอบมาให้ฉันสิ ฉันรออยู่นะ"

จงแสดงให้เห็นความพยายามและการกระหายใครรู้จากใจด้วยการเล่าให้ฟังสั้นๆว่าได้พยายามทำอะไรมาแล้วบ้าง แล้วติดปัญหาที่ตรงไหน เลยอยากขอปรึกษา

"หนูกำลังทำ Honey Toast อยู่ เห็นว่าพี่เคยทำแล้ว หนูใช้เนยแท้ทาตามที่พี่บอกมาสองก้อนแล้ว แต่มันไม่ค่อยซึมเข้าเนื้อเลย พี่พอจะมีเทคนิคแนะนำมั้ยคะว่าต้องทำยังไง" (Good)

เป็นคำถามที่ดูแล้วน่าตอบมาก เพราะประกอบด้วยทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็นความพยายาม การให้เกียรติและคำถามที่ชัดเจน

สรุปแล้ว คำถามที่ดีเกิดจากสิ่งที่คุณเคยลองมันแล้วและคุณต้องเข้าใจคำถามของคุณอย่างชัดเจนก่อน มิฉะนั้นคุณจะไม่มีโอกาสได้รับคำตอบที่ดีได้เลย เพราะถึงคำตอบจะดีด้วยตัวมันเอง คุณก็เอามันไปใช้ประโยชน์ไม่ได้เลย

ถามทีละคำถาม

อย่างที่บอก มันเป็นหน้าที่ของผู้ถามที่ต้องย่อยสิ่งที่สงสัยออกมาเป็นข้อๆ พอได้คำตอบค่อยประกอบกับมาเป็นส่วนๆ

ดังนั้นคำถามที่ต้องการถามจะมีเป็นสิบเลย แต่การถามไปหมดพร้อมกันนั้นเป็นสิ่งที่ผิด เพราะจะทำให้ผู้ถูกถามไขว้เขวได้ว่าต้องการคำตอบของคำถามไหนกันแน่

การถามที่ดีเราจึงควรตั้งคำถามออกเป็น Series เมื่อถาม 1 เสร็จก็รอคำตอบ พิจารณาคำตอบ แล้วเอาไปตั้งเป็นคำถามใหม่(หรือเลือกคำถามที่เตรียมไว้แล้ว) แล้วค่อยถามไปจนหมด

อย่างไรก็ตาม เราควรจะมีศิลปะในการถามด้วย ไม่งั้นถามรัวๆไป 108 คำถาม ควรจะเลือกถามเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้นและไม่ควรเกิน 3-5 คำถาม แล้วพอได้แนวทางก็ให้ไปศึกษาเพิ่มด้วยตัวเองก่อน หากติดตรงไหนค่อยมาถามเพิ่มเติม

ใส่ข้อมูลประกอบคำถามให้ครบ อย่าให้ขาดตก อย่าเดาว่าคนตอบต้องรู้อยู่แล้ว

อันนี้เป็นปัญหาที่เจอบ่อยแม้กระทั่งการสื่อสารตามปกติ คือคนถามมักจะมีอะไรอยู่ในหัวเต็มไปหมด แล้วอนุมานว่าคนอื่นต้องมีอย่างเดียวกันในหัว เลยไม่พูดถึงอะไรก่อนเลย อยู่ดีๆก็ถามซะงั้น ปรากฎว่าคนถูกถามไม่เข้าใจคำถามเพราะ Context ไม่ครบ ต้องเสียเวลาถามกลับอีก ยกตัวอย่างเช่น

"ทำแอพฯมือถืออยู่ บาร์ด้านบนมันควรสูงเท่าไหร่ครับ" (Bad)

ก็ต้องถามกลับไปอีกว่า

"ระบบปฏิบัติการอะไรครับ?"

หรือที่เจอบ่อยเลยคือคำถามทางเทคนิค

"ใช้ ViewPager แล้วแอพฯ ​Crash ครับ แก้ยังไงดีครับ?" (Very Bad)

คำถามแบบนี้คนถามมักจะคิดว่าคนอื่นต้องมีประสบการณ์เดียวกับเรา เค้าต้องรู้สิว่า Source Code เราเป็นยังไง ซึ่ง ... จะบร้าเรอะะะะ ใครจะไปตรัสรู้

เหมือนปวดหัวแล้วโพสต์ถามหมอว่า "ปวดหัวจัง ผมเป็นอะไรครับ?" พร้อมมโนว่าหมอทุกคนต้องรู้ดิว่าเราปวดหัวตรงไหน หนักแค่ไหน แต่เอาจริงๆมีหมอคนไหนมั้ยจะตอบได้ว่าคุณเป็นอะไร?

คุณต้องบอกอาการโดยละเอียด "ผมปวดหัวแปรบๆตรงท้ายทอยลากยาวลงมาถึงสะบักตามจังหวะการเต้นของหัวใจ จะเริ่มเป็นตอนเจอแสงแรงๆส่องเข้าตา ผมเป็นอะไรครับ?" (อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการยกตัวอย่าง ปวดหัวก็ไปหาหมอเซ่~~)

ที่ถูกต้องคือถ้าจะถามเรื่องเทคนิคเจาะลึกก็ต้องส่ง Resource ทั้งหมดที่ระบุถึงปัญหานั้นอย่างชัดเจนมาให้อย่างเช่น Stacktrace, Crash Log รวมถึง Source Code พอสังเขป แล้วแต่ว่าปัญหานั้นๆมีหลักฐานประกอบอะไรบ้าง

นี่เป็นข้อที่คนทำพลาดกันมากที่สุดจากประสบการณ์การตอบคำถามที่ส่งมาไม่เว้นแต่ละวัน คือการที่ส่งข้อมูลมาไม่ครบแต่ดันอยากได้คำตอบครับ ทุกวันนี้ถ้าเจอแบบนี้ผมไม่ตอบแล้วอ่ะ รู้สึกว่าเค้าไม่เตรียมตัวและใส่ใจในการถาม

ถามอย่างกระชับ ไม่ใช่ส่งเรียงความ

จริงอยู่ที่เราควรจะส่ง Resource ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับคำถามมาให้ แต่ควรจะส่งมาพอสังเขปเท่านั้น ไม่ใช่ว่ามี Source Code 100,000 บรรทัด แล้วก็ส่งมา 100,000 บรรทัดเลย ควรจะส่งมาแค่ส่วนที่เกิดปัญหาเท่านั้น เป็นต้น

และเนื้อหาในการถามก็ควรจะกระชับ ไม่ใช่ร่ายยาวมา 6 หน้า A4 เพื่อถามคำถามที่อธิบายให้จบได้ใน 2 ประโยค

สาเหตุเพราะ "ยาวไปไม่อ่าน" มีอยู่จริงครับ ... คือว่าเวลามันมีค่าอ่านะ ถ้าส่งมายาวๆจะเอาเวลาที่ไหนมาอ่านหละครับ? กว่าจะอ่านกว่าจะทำความเข้าใจกว่าจะตอบ มันเสียเวลา ดังนั้นจงฝึกเขียนกระชับๆเอาไว้ครับ มันสำคัญมาก

จัดย่อหน้าและเว้นวรรคอย่างถูกต้อง

เป็นศิลปะและสกิลที่ต้องฝึกฝนอย่างนึงครับว่าควรจะต้องจัดย่อหน้าอย่างไร เมื่อไหร่ควรจะขึ้นย่อหน้าใหม่ ตรงไหนควรเว้นวรรค เพราะหากเค้าทนอ่านคำถามคุณจนจบไม่ไหว มันก็เปล่าประโยชน์

ต้องทำยังไงครับตรงนี้? ... "ฝึกฝนครับ"

ถามด้วยความสุภาพ ใช้ภาษากึ่งทางการและใช้ประโยคขอร้อง

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนดิบเถื่อนแค่ไหน ไม่ว่ามาดคุณจะเป็นพระเจ้าที่ไม่ยอมก้มหัวให้ใคร ถ้าคุณจะรบกวนเวลาคนอื่นโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ไม่รู้จักคุณเป็นการส่วนตัว คุณก็ควรทำด้วยความสุภาพ

คำถามมักจะมาอยู่สองแนวคือ "ประโยคคำสั่ง" กับ "ประโยคขอร้อง" ซึ่งแน่นอน ตรงนี้ไม่ต้องตอบว่าอันไหนดีกว่ากัน มันอยู่ใน Common Sense ของทุกคนอยู่แล้ว แต่ก็น่าแปลกใจที่ยังมีคนเผลอใช้ประโยคคำสั่งอยู่เรื่อยๆ

การขึ้นต้นด้วย "ขอโทษนะครับ รบกวน..." เป็นการขึ้นต้นที่ดีทั้งกรณีของการถามด้วยการพิมพ์หรือการพูด

ภาษาที่ใช้ก็ควรเป็นภาษากึ่งทางการ การลงท้ายด้วยครับ/ค่ะจะช่วยให้คนถามดูอ่อนโยนน่ารักและน่าตอบขึ้นมาก

ก็ลองคิดดูว่าถ้ามีคนมาถามคำถามเดียวกัน คนนึงถามว่า

"เพ่ ฮันนี่โทสต์เพ่โคดเท่เลย ทำไงอ่ะ? สอนหน่อยดิ"

กับอีกคน

"ขอโทษนะคะ เห็นพี่ทำ Honey Toast ได้น่าทานมาก รบกวนถามวิธีหน่อยได้มั้ยคะว่าต้องทำยังไง ขอบคุณล่วงหน้าค่า"

เป็นคุณ คุณจะตอบคนไหนและจะด่าคนไหน? แค่เห็นคำว่า "ค่ะ" ก็อยากตอบแล้วเห็นป่ะหละ ... #แต่พอพิมพ์ว่าครับพี่ไม่ตอบนะ #เดี๋ยว #ผิด

สุดท้าย ...​ ใช้ภาษาไทยให้ถูกนะคร้าบ ต่อให้ถามดีแค่ไหน พิมพ์ "นะค่ะ" มา ส่วนตัวก็ไม่อยากตอบแล้วนะ

แสดงความจริงใจสำหรับคำถามที่ดูมีความเป็นไปได้ที่จะกวน

ข้อสุดท้ายละ เนื่องจากว่าการพิมพ์ถามนั้นมีโอกาสที่คนอ่านจะตีความได้ทั้งแง่ดีและแง่ร้าย หากคำถามคุณดูกำกวม คนก็อาจจะคิดว่าคุณตั้งใจกวนก็ได้ ดังนั้นหากมีโอกาสสุ่มเสี่ยง คุณก็ควรจะเขียนกำกับไว้ชัดเจนถึงความบริสุทธิ์ใจของคุณ ซึ่งเรื่องจริงที่น่าแปลกใจคือ คำถามพวกนี้มักจะน่าตอบซะด้วย

อันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีจากเพจ Contrast ที่เห็นเมื่อวานพอดี เลยยกมาให้ดูซะเลย

ซึ่งเทคนิคนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องของการถามด้วยการพิมพ์เท่านั้น การพูดด้วยปากเปล่าก็เช่นกัน คุณต้องแสดงความจริงใจออกมาอย่างเห็นได้ชัด ไม่งั้นอาจจะโดนต่อยกลับได้เช่นกัน ...

การตั้งคำถามเก่งเป็นประตูไปสู่การพัฒนาตัวเอง

โดยสังเขปก็เป็นประมาณนี้ครับ มีโอกาสได้คุยกับผู้นำ Community หลายต่อหลายราย ทุกคนพูดตรงกันหมดว่า "นักพัฒนาไทยมีปัญหาเรื่องการตั้งคำถามเป็นอย่างมาก" และเนยเห็นด้วยนะเนื่องจากเจอมากับตัว ดังนั้นถ้ารู้ว่ามันเป็นปัญหาแล้วก็อยากให้ทุกคนพัฒนาความสามารถตรงนี้ของตัวเองด้วยครับ

อย่างไรก็ตาม ถึงคุณจะไม่มีคำถามอะไรอยากถามใคร เราก็อยากให้ทุกคนฝึกตั้งคำถามนะ ไม่รู้จะถามใครก็ถามตัวเองก็ได้ เพราะคำถามเกิดจากความอยากรู้และจะนำไปสู่การค้นคว้าหาคำตอบ

หากไร้ซึ่งคำถาม ไร้ซึ่งความสงสัย คุณก็จะยังวนอยู่กับเรื่องเดิมๆ ไม่อาจจะไปหาสิ่งใหม่ๆได้ ดังนั้น ... อยากให้ฝึกฝนกันครับสำหรับสกิลนี้

สิ่งที่ได้ตามมานอกจากความรู้ที่เพิ่มขึ้นแล้ว คุณยังจะได้ "ความกระหายใคร่รู้" "ความสามารถในการเรียนรู้ด้วยตัวเอง" และ "ความสามารถในการย่อยสาส์น" มาเป็นสกิลเพิ่มเติมอีกด้วย อีกทั้งยังช่วยให้คุณสามารถเรียบเรียงความคิดในสมองออกมาเป็นเรื่องราวที่คนเข้าใจได้ง่าย ซึ่งสุดท้ายจะช่วยคุณพัฒนาศักยภาพทางด้านการสื่อสารไปโดยไม่รู้ตัว

มีแต่ได้กับได้ครับ เอ้า! จากนี้หากจะถามอะไรใคร ลองคิดดีๆและเตรียมตัวดีๆก่อนถามครับ จำไว้

คำตอบที่ใช่เกิดจากคำถามที่ถูกต้อง

สวัสดีครับ

บทความที่เกี่ยวข้อง

Oct 22, 2014, 19:11
14703 views
วันฟ้าใหม่ จากชีวิตที่เป็นไมเกรนทุกวัน สู่วันที่เหลือแค่เดือนละสองครั้ง
Mar 21, 2015, 03:10
11323 views
ทำความรู้จัก Glide ไลบรารี่โหลดภาพคู่แข่ง Picasso ที่กูเกิ้ลแนะนำให้ใช้ มีดีอย่างไรมาดูกัน!
0 Comment(s)
Loading